เวียดนามอันซีน : มรดกอาณานิคมฝรั่งเศสในเวียดนาม (The French Colonial Legacy in Vietnam)

เวียดนามอันซีน
ประเทศเวียดนามเคยเป็นส่วนหนี่งของอินโดจีน หรือ อินโดไชน่า ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหล่าประเทศเจ้าอาณานิคมเข้ามาแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อความได้เปรียบทางเศรษฐกิจในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในทวีปยุโรป

เวียดนามอันซีน : มรดกอาณานิคมฝรั่งเศสในเวียดนาม (The French Colonial Legacy in Vietnam)

อินโดจีนเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่ถูกแสวงประโยชน์เพื่อความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลฝรั่งเศสเกือบจะผูกขาดการค้าฝิ่น เกลือ ไวน์ ข้าว ซึ่งการค้าขายสินค้าเหล่านี้เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจท้องถิ่น และเริ่มมีความหลากหลายในช่วงทศวรรษที่ 1930

ในปี ค.ศ. 1930 นี้เอง ชาวฝรั่งเศสเริ่มใช้ทรัพยากรธรรมชาติของภูมิภาคอย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เวียดนามในปัจจุบันกลายเป็นแหล่งผลิตข้าว ชา กาแฟ พริกไทย ถ่านหิน สังกะสี และดีบุก สวนยางพาราในอินโดจีนของฝรั่งเศสได้รับการพัฒนา เพื่อรองรับความต้องการอย่างต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเจริญเติบโต

ในขณะที่เวียดนามมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ก็เป็นเพียงผลประโยชน์ของฝรั่งเศสและชาวเวียดนามกลุ่มเล็กๆ ที่ร่ำรวย ทำให้ความขัดแย้งทางสังคมเพิ่มมากขึ้น การเป็นเจ้าของที่ดินก็กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มราชาที่ดินกลุ่มเล็กๆ ทำให้เกิดความขุ่นเคืองในสังคม คนรวยก็ร่ำรวยมากขึ้น แต่ชาวเวียดนามทั่วไปกลับไม่มีชีวิตดีขึ้นมากนัก ทำให้เกิดแรงดึงดูดของชาวเวียดนามต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และขบวนการชาตินิยมก็ถูกปลุกเร้าขับไล่ชาวต่างชาติที่มาปกครองและปกป้องมาตุภูมิ ทำให้เกิดสงครามอินโดจีนทั้งสามครั้ง

ตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่ฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม ส่งผลให้เกิดมรดกอาณานิคมฝรั่งเศสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดดเด่น และสำคัญ ที่ส่งผ่านมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถพบเห็นหรือสัมผัสได้ทั้งสถาปัตยกรรม ภาษา และโดยเฉพาะอาหาร

อิทธิพลของฝรั่งเศสต่อสถาปัตยกรรมเวียดนาม

หลังสิ้นสุดลงของอำนาจอาณานิคมฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนครั้งแรกนาน 9 ปี ตามด้วยสงครามเวียดนามที่ยืดยาวนานกว่า 20 ปี แต่อาคารต่างๆ จำนวนมากในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ยังคงใช้งานได้ดี และได้รับการดูแลอย่างดี

ในกรุงฮานอย โรงละครโอเปร่าฮานอย สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1911 ถือเป็นอาคารที่โดดเด่นที่สุด ซึ่งจำลองมาจากโรงละครโอเปร่า ปาเล่ส์ การ์นิเย่ร์ (Palais Garnier) ในกรุงปารีสแต่มีขนาดเล็กกว่า มีรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอ-คลาสสิกและสถาปัตยกรรมอะแคล็คติซิสซึ่ม ในขณะที่นครโฮจิมินห์ยังมีอาคารยุคอาณานิคมหลายแห่งเช่นกัน โดยเฉพาะ โรงละครโอเปร่าโฮจิมินห์, มหาวิหารนอเทร-ดามแห่งเวียดนาม, อาคารประชาชนของนครโฮจิมินห์ และ ที่ทำการไปรษณีย์กลางไซง่อน ปัจจุบันยังคงเป็นสถานที่สำหรับซื้อแสตมป์ ส่งจดหมายและโปสการ์ดถึงใครๆที่คุณรักได้จากที่ทำการไปรษณีย์โบราณอันงดงามแห่งนี้

เวียดนามอันซีน

เวียดนามอันซีน
ตึกไปรษณีย์กลาง เป็นตึกสไตล์ฝรั่งเศสที่สร้างขึ้นในสมัยเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

อิทธิพลของฝรั่งเศสต่อภาษาเวียดนาม

จื๋อโนม (chữ Nôm) เป็นระบบอักษรที่ใช้เขียนภาษาเวียดนาม ที่มีระบบแม่จากอักษรจีน เช่นเดียวกับ อักษรคันจิของญี่ปุ่น และอักษรฮันจาของเกาหลี เมื่อชาวโปรตุเกสได้ค้าขายกับชาวเวียดนามต้องการศึกษาภาษาของเวียดนาม และระบบจื๋อโนมยากต่อการเข้าใจและเรียนรู้ ทำให้คณะมิชชั่นนารีคณะเยซูอิตที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิค โดย บาทหลวง อาเล็กเชินดรี จิ ฮอดจิส (Alexandre de Rhodes) ชาวโปรตุเกสได้ผู้คิดค้น นำภาษาเวียดนามมาประยุกต์เข้าตัวอักษรละติน เพื่อให้เข้าใจการออกเสียงและความหมายของภาษาเวียดนาม

ต่อมาบาทหลวงโจวันนี่ ฟีลิปโป เด มารีนี่ (Giovanni Filippo de Marini) ชาวอิตาลีเป็นผู้บันทึกลงเพื่อใช้งานจริงในปี ค.ศ. 1645 และบาทหลวง ปิแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน (Pierre Pigneau de Béhaine) ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ปรับปรุงต้นฉบับให้เข้ากับภาษาฝรั่งเศส และบาทหลวง ฌอง หลุยส์ ตาแบร์ (Jean-Louis Taberd) ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เรียบเรียงเนื้อหาขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1838

ปลายศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิฝรั่งเศสได้เข้ายึดปกครองภูมิภาคโคชินไชน่า ทำให้ระบบจี๋อโนมถูกยกเลิกและบังคับให้ชาวเวียดนามใช้ระบบอักษรลาตินและฝรั่งเศส ซึ่งเรียกว่า “จื๋อก๊วกหงือ (Chư Quấc Ngủ)” แปลตรงตัวว่า ตัวหนังสือของภาษาประจำชาติ ขณะเดียวกันชาวเวียดนามเอง ก็รู้สึกว่าระบบจื๋อก๊วกหงือศึกษาง่ายกว่าระบบจื๋อโนมแบบเดิมเช่นกัน หมายความในอดีตคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงการรู้หนังสือได้ง่าย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ระบบจื๋อก๊วกหงือถูกใช้งานอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากคนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ และอิทธิพลทางภาษาของฝรั่งเศสยังส่งผลต่อคำยืมในภาษาเวียดนามด้วย เช่น ก่าเฟ (Cà phê) ที่หมายถึง กาแฟ เช่นเดียวกับไทยซึ่งเป็นคำยืมที่ออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า “กาเฟ่ (Café) ในภาษาฝรั่งเศส, บุ๊บเบ๋ (Búp bê) ที่เพี้ยนมาจากคำว่าปุ๊ปเป่ (Poupée) เช่นเดียวกับไทยที่ออกเสียงว่า ปูเป้ (Pu pé) ที่แปลว่า ตุ๊กตา

อิทธิพลของฝรั่งเศสต่ออาหารเวียดนาม

ถ้ามองแวบแรกจะเห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างอาหารฝรั่งเศสและอาหารเวียดนาม แต่หากพิจารณาอย่างใกล้ชิดจะพบว่าอาหารเวียดนามได้ซึมซับอิทธิพลของฝรั่งเศสอย่างมีนัยสำคัญ

อาหารเวียดนามยอดนิยมสองอย่างที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสอย่างชัดเจน ได้แก่ บั๊ญหมี่และเฝอ โดยบั๊ญหมี่เป็นแซนวิชสไตล์เวียดนาม โดยขนมปังจะมีผิวบางกรอบและเนื้อนุ่มโปร่ง คล้าย “บาแกตต์ (Baguette)” ขนมปังฝรั่งเศสทรงสั้นและอ้วนกว่า และ ด้านในขนมปังบั๊ญหมี่จะเต็มไปด้วยเนื้อสัตว์ย่าง หมูยอ และผัก เช่น แตงกวา แคร์รอทดอง หัวไชเท้าดอง และแตงกวา ซึ่งก่อนการเข้ามาของชาวฝรั่งเศส ไม่มีการกินขนมปังในวัฒนธรรมอาหารของเวียดนาม และในเวียดนามไม่มีการปลูกข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำขนมปัง โดยขนมปังเวียดนามจะใช้แป้งข้าวเจ้าแทนแป้งสาลี ทำให้รสชาติและเนื้อสัมผัสขนมปังทั้งสองแบบแตกต่างกัน ในขณะที่ “เฝอ (Phở)”เป็นอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวน้ำ ที่ได้รับความนิยมสูงในเวียดนามจนได้ชื่อว่า “เมนูอาหารแห่งชาติเวียดนาม” เป็นการผสมผสานระหว่างเส้นหมี่เวียดนาม ที่มีลักษณะกลมและใหญ่กว่าเส้นขนมจีนเล็กน้อย ที่ใส่ลงไปในน้ำซุปเนื้อหรือสตูว์ของฝรั่งเศส ที่มีชื่อเรียก “โพโตฝือ (Pot-au-feu)” แล้วการกร่อนคำในภาษาท้องถิ่นเวียดนามเหลือเพียง “เฝอ”

นอกจากนี้ “ก่าเฟ (Cà phê)” ซึ่งเป็นคำเรียกของกาแฟในภาษาเวียดนาม ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบกันทั้งประเทศ การดื่มกาแฟได้รับความนิยมในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง โดยบาทหลวงคาทอลิกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้นำเข้ามา แต่แตกต่างจากกาแฟของชาวฝรั่งเศสมักชอบดื่มกาแฟดำร้อน ขณะที่ชาวเวียดนามชอบดื่มกาแฟใส่นมข้นหวาน และนี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมอาหารฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลกับวิถีชีวิตและการนำไปใช้ของชาวเวียดนามอย่างไร ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้มาเยือนเวียดนามลองสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวว่าวัฒนธรรมต่างแดนอะไรบ้างที่เข้ามาเป็นวัฒนธรรมร่วมในเวียดนาม และวิธีที่ดีในการชิมอาหารท้องถิ่น คือ การไปทัวร์ชิมอาหารในย่านเมืองเก่าของเมืองหลักในแต่ละภูมิภาคของเวียดนาม

Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า